วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ถ่ายภาพวิวภูเขาให้เข้าตากรรมการ

            นับตั้งแต่กล้องถ่ายภาพได้ถือกำเนิดขึ้นบนโลกใบนี้เมื่อปี ค.ศ.1825  กล้องกับการเดินทางก็เป็นของคู่กันอย่างไม่สามารถแยกออกจากกัน บนพื้นโลกอันกว้างใหญ่ หรือแม้แต่ในท้องทะเล มีเรื่องราวหลายหลากให้นักเดินทางอย่าเรา ๆ ท่าน ๆ ได้ค้นหา และบันทึกเรื่องราวเหล่านั้นลงสู่ภาพถ่าย ตั้งแต่ดอกหญ้าที่ไร้ค่าไปจนถึงท้องทะเลอันกว้างใหญ่ และหนึ่งในสิ่งที่บรรดานักเดินทางทั้งหลายชื่นชอบคงจะหนีไม่พ้นภาพวิวภูเขาตระหง่านง้ำ ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่อลังการ โดยเฉพาะเมื่อมันมาปรากฏอยู่ในภาพถ่าย ซึ่งเราเป็นผู้ทำการบันทึกไว้เอง เทคนิคในการถ่ายภาพภูเขาก็มีผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ และบรรดาเซียนการถ่ายภาพ รวบรวม ทดลอง คิดค้น วิธีการต่าง ๆ มาแนะนำอยู่มากมาย โดยหลัก ๆ เท่าที่ค้นหามาได้คงจะประมาณนี้ เราไปดูกันว่าทำอย่างไรบ้าง
http://www.tripsthailand.com/th/doihuamaekham.php

1. วางแผนและค้นหาข้อมูล
ก่อนออกเดินทาง เราควรใช้เวลาสักนิดในการที่จะหาข้อมูล ของสถานที่ ๆ เราจะไปเพื่อเป็นการวางแผนการเดินทาง และวางกำหนดเวลาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เช่น พระอาทิตย์ขึ้น หรือตกในตำแหน่งใด เราจะได้อยู่ถูกที่ ถูกทาง และถูกเวลา รวมถึงรู้ทิศ ทางของแสง ว่าช่วงเช้า ช่วงบ่าย และช่วงเย็น สภาพแสงจะเป็นอย่างไรในตำแหน่งนั้น ๆ อีกทั้งฤดูกาลที่เหมาะสม ซึ่งสามารถจะช่วยให้จัดเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องอีกด้วย

2. เลนส์เทเลโฟโต้ (Telephoto lens) อาจช่วยคุณได้
การใช้เลนส์มุมกว้าง (Wide-angle lens) ถ่ายภาพวิวภูเขา หรือทิวทัศน์ อาจไม่จำเป็นเสมอไป เราลองมาใช้เลนส์เทเลโฟโต้มาถ่ายภาพวิวดูซักครั้ง อาจให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไป โดยทั่วไปแล้ว เราอาจจะใช้เลนส์เทเลโฟโต้ในการถ่ายภาพเพื่อเจาะเน้นเฉพาะส่วนที่น่าสนใจ ซึ่งจะมีผลต่อความรู้สึก และมีพลังในภาพมากขึ้น การปรับรูรับแสง ถ้าต้องการให้ภาพชัดเจนทุกส่วนก็ควรปรับรูรับแสงให้แคบ เช่น F 22 หรือ F 32 แต่ต้องปรับความเร็วชัตเตอร์ให้ต่ำลงด้วย อาจต้องใช้ขาตั้งกล้องเพื่อความมั่นคง และใช้ร่วมกับสายลั่นชัตเตอร์ทุกครั้ง หากไม่มีอาจจะใช้ระบบตั้งเวลาถ่ายอัตโนมัติก็ได้ เพื่อภาพจะได้ไม่สั่นไหว

3. มองหาเงาสะท้อน
มืออาชีพมักที่จะเสาะหาบางสิ่งบางอย่างที่น่าสนใจเพิ่มเติมลงในภาพเสมอ เพื่อให้ได้ผลงานที่แตกต่าง ภูเขาลูกเดียวกันแต่ลองเปลี่ยนมุมมอง ด้วยการส่งภูเขาทั้งลูกลงไปสู่ทะเลสาบ หรือหนองน้ำ ทำให้เกิดเป็นเงาสะท้อน ซึ่งจะส่งผลให้ภาพถ่ายมีความน่าสนใจและเพิ่มเนื้อหาเรื่องราวให้กับภาพได้เป็นอย่างดี

4. สร้างภาพให้มีมิติ (สร้างฉากหน้า)
การหาวัตถุที่น่าสนใจรวมเข้าเป็นฉากหน้า อาจจะเป็นเงาของต้นไม้ใหญ่ ทุ่งดอกไม้ น้ำตก หรือบรรยากาศในตัวภูเขาเอง หามันให้เจอทำให้มันเกิดมิติที่แตกต่างกัน ในส่วนที่อยู่ใกล้ และฉากหลังที่อยู่ไกล ส่วนที่เป็นภูเขาอาจจะสำคัญรองลงไป แต่อย่างไรเสียภูเขาก็ยังคงเป็นภูเขา และยังคงน่าสนใจอยู่ดี

5. มองจากมุมที่สูงกว่า
เป็นเรื่องเบสิคมาก สำหรับการถ่ายภาพภูเขาจากระดับสายตา แต่สิ่งที่จะทำให้ภาพเร้าอารมณ์มากขึ้นคือ ขึ้นไปที่สูงแล้วบันทึกภาพนั้นจากมุมมองที่สูงกว่า นำเสนอทิศทางการมองภูเขาที่แตกต่างออกไป เราอาจต้องใช้ความพยายามสักหน่อยที่จะได้มุมมองดังกล่าว อาจต้องเดินขึ้นเขากันเป็นวันๆ แต่รับรองว่าคุ้มค่ากับสิ่งที่จะได้มาอย่างแน่นอน ทั้งภาพถ่าย ทั้งความรู้สึก เราอาจเพิ่มเรื่องราวในขณะเดินทางไต่เขาเข้าไปในกลุ่มของภาพ ก็จะยิ่งเติมเต็มเนื้อหาให้กับภาพถ่ายของภูเขายิ่งขึ้น

6. เร่งสีสันให้กับภาพ
ตากล้องส่วนใหญ่มักจะใช้ฟิลเตอร์ “โพลาไรซ์ (Polarized filters)” เพื่อเพื่อสีสันให้กับท้องฟ้า แต่การจะได้ภาพเป็นที่น่าสนใจมันไม่ได้จบแค่การนำฟิลเตอร์โพลาไรซ์มาใส่แล้วถ่ายเท่านั้น เราต้องเรียนรู้มุมสะท้อนของแสงอาทิตย์อันจะส่งผลให้ใช้ประโยชน์จากมุมโพลาไรซ์ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด การวางตำแหน่งของภูเขาในภาพได้อย่างถูกต้อง ถูกทิศทาง การวางให้มุมตั้งฉากกับดวงอาทิตย์จะเกิดผลในการใช้ฟิลเตอร์ชนิดนี้มากที่สุด การใช้งานให้ปรับมุมฟิลเตอร์พร้อมกับสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสีสันจากช่องมองภาพโดยค่อย ๆ เลือกตำแหน่งการปรับฟิลเตอร์จนกว่าจะได้ภาพวิวภูเขาที่ดีที่สุด

7. หมอกและแสงหลัง
สิ่งอันเป็นยอดความปรารถนาของผู้รักการถ่ายภาพทั้งหลายคงหนีไม่พ้นทะเลหมอก การที่เราต้องขนอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นระยะทางไกล ๆ เดินทาง ปีนป่ายขึ้นสู่ไหล่เขาสูงจนได้ระดับ เพื่อให้ได้ภาพของทะเลหมอก ที่ทำให้ภูเขาดูเหมือนมีความลี้ลับ และลึกลับน่าค้นหา ยามใดที่ปรากฏทะเลหมอกขึ้นยังบริเวณหุบเขาด้านล่าง และมีทิศทางของแสงส่องเข้ามาทางหลัง ผลที่ได้จะทำให้ภาพหุบเขาเกิดเป็นเงามืดทึบตัดกับผืนหมอกสีขาวนวลที่กำลังทอประกายสะท้อนแสงแลดูสวยงาม และลึกลับน่าค้นหา

8. เพิ่มคนเข้าไปในภาพ
เช่นเดียวกับการสร้างฉากหน้า ลักษณะนี้เป็นการแสดงสัดส่วน และขนาด เพื่อที่ในภาพจะได้มีการเปรียบเทียบบ่งบอกขนาดอันใหญ่โตของภูเขา และทิวทัศน์ การเพิ่มคนเข้าไปในภาพจึงเป็นการเพิ่มความน่าสนให้กับภาพ อีกทั้งสามารถบอกเล่าเรื่องราวของการเดินทางได้อีกด้วย

9. ตื่นแต่เช้าตรู่
ในช่วงบ่ายต้องถือเป็นช่วงที่พระอาทิตย์ส่องแสงสวยงามดั่งต้องมนต์ เพราะเป็นช่วงที่แสงแลดูอบอุ่น ซึ่งเราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการถ่ายภาพได้เป็นอย่างดี แต่แสงอีกช่วงหนึ่งของวันที่ทรงคุณค่าไม่แพ้กันนั่นก็คือ แสงในช่วงเช้าตรู่ ด้วยสีฟ้าบริเวณชั้นบรรยากาศอันห่างไกล และแสงสีชมพูบนท้องฟ้า ดวงอาทิตย์กำลังจะโผ่ลพ้นขอบฟ้า เมื่อรวมเข้าด้วยกันประกอบกับภาพภูเขาเบื้องล่าง ทำให้ภาพที่ออกมากลายเป็นภาพที่งดงาม ให้ความรู้สึกบางเบา อิสระ และสงบเงียบ เราจึงควรใช้ช่วงเวลานี้ให้เกิดประโยชน์ อย่าปล่อยให้สูญเปล่าไปกับการพักผ่อนหลับนอน แม้ว่ายามค่ำคืนที่ผ่านมาจะมีศึกหนักจากงานปาร์ตี้(Party)

ขอเสริมเรื่องสุดท้ายคือ การจัดวางตำแหน่งของภาพ อย่าลืมกฏ 1 ใน 3 ของภาพ (Rules of Third ) และเส้นนำสายตา (Eye Line) นะครับ

และสุดท้ายจริง ๆ ต้องขอขอบคุณท่านผู้รู้ และบรรดาเซียนกล้องทั้งหลาย ที่เก็บรวบรวมประสบการณ์มาให้ เรา ๆ ท่าน ๆ ได้ศึกษาทดลอง ขอบคุณครับ

ขอให้สนุกกับการเดินทาง และถ่ายภาพสวย ๆ มาฝากพวกเราครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น